วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ....เป็นอย่างไร

นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เกิดประโยชน์จากความคุ้มครองตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติดังกล่าวพอสมควร ในการที่จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนจากความเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ หรือแม้แต่การสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ระยะเวลาผ่านมาสิบปีเศษ ทางราชการได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขและจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ให้มีอัตราที่สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น กรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 สำหรับกรณีเสียชีวิต , กรณีเสียชีวิตภายหลังจากการรักษาพยาบาล , กรณีสุญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ก็ได้มีการปรับแก้จำนวนเงินที่ชดใช้ใหม่
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้ประสบภัยอีกหลายคนที่มิได้รับการชดใช้ หรือไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันหรือเจ้าของรถได้ เช่น กรณีชนแล้วหนี แต่ผู้ประสบภัยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจากไม่ทราบว่าตนสามารถเรียกร้องเอาจาก "กองทุนทดแทนประสบภัยจากรถ" ได้ ซึ่งกองทุนนี้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถและการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ เรามาทบทวนสาระหลักๆ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กันก่อน
ค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีบาดเจ็บเป็นค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเสียชีวิตเป็นค่าปลงศพ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย / ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้
กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ
กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) รวมๆแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย / ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย / ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้
กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามความเป็นจริง ไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสาร / บุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายกรณีบาดไม่เกิน 50,000 บาทเจ็บ และกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย) 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา)
อย่างไรจึงจะได้รับความคุ้มครองในกรณีสูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพอย่างถาวร ที่จะได้รับจำนวนเงินความคุ้มครอง 80,000 บาท ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้
1. ตาบอด 2. หนูหนวก 3. เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด 4. สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ 5. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด 6. จิตพิการอย่างติดตัว 7. ทุพพลภาพอย่างถาวร
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ประสบภัย / ทายาทต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น โดยยื่นคำร้องต่อบริษัทประกันภัย / บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฯ หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยกรณีไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้ พร้อมหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล 2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อในบัตรเป็นผู้ประสบภัย 3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย 4. สำเนาใบมรณะบัตร กรณีเสียชีวิต 5. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ 6. สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยคืออะไรกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯในการยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ ผู้ประสบภัย / ทายาท จะต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ โดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่
1.สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย 2. สำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด 3.สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทั้ง 4 เขตหวังว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์และได้รับความเดือดร้อน ผู้ประสบภัยคงจะเข้าใจถึงความสำคัญของ"กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ" และคงจะได้ทราบถึงวิธีการที่จะขอรับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวแล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: