วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

การตั้งจำหน่ายรถยนต์มือสองข้างถนน

ตามที่มีผู้สอบถามเกี่ยวกับการตั้งจำหน่ายรถยนต์มือสองข้างถนนนั้น กลุ่มควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ส่วนงานนิติการ สำนักการสอบสวนและนิติการ ขอเรียนให้ทราบ ดังนี้ 1. กรณีคำถามว่า การที่มีผู้ประกอบการขายรถยนต์มือสอง ที่จอดขายข้างถนน โดยอาศัยจอดตามใต้ต้นไม้ หรือมีป้ายขายติดอยู่ ถือว่าต้องขออนุญาตค้าของเก่าหรือไม่ นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพค้าของเก่า ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 นั้น จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 2 อย่างนี้ ก่อนที่จะตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 6 และตรวจสอบสถานที่ตั้ง คือ (1) สินค้าที่ค้าขายนั้นเป็นของเก่าหรือไม่ (ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474) (2) ประกอบการเป็นอาชีพหรือไม่ (ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตดลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474) ดังนั้น กรณีคำถาม จะเห็นว่ารถยนต์ที่จอดขายบริเวณสองข้างทางเป็นรถยนต์มือสอง ซึ่งถือว่าเป็นของเก่าตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 แต่การวางจำหน่ายรถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นอาชีพหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก กล่าวคือ - หากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการประกอบการเป็นอาชีพ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต แต่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตจะพิจารณาอนุญาตได้หรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาจากสถานที่ตั้งและสถานที่เก็บทรัพย์สินประกอบด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ มีสถานที่เป็นหลักแหล่งแน่นอนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ (ตามนัยมาตรา 8 (ก) แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ประกอบกับข้อ 8 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533) - หากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการประกอบการที่ไม่ถือว่าเป็นอาชีพ เช่น นำรถยนต์ส่วนตัวออกวางขายโดยติดป้ายราคาบอกไว้ เช่นนี้ ก็ไม่เข้าลักษณะที่ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 แต่อย่างใด 2. กรณีถามว่า หากมีการวางจำหน่ายรถยนต์มือสองแบบข้อ 1 แต่ผู้ประกอบการอ้างว่ารับมาจำหน่ายจากร้านที่มีใบอนุญาตค้าของเก่าอยู่แล้ว จะต้องยื่นขอใบอนุญาตอีกหรือไม่ นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 มาตรา 8 (ก) ที่กำหนดว่า “ผู้ค้าของเก่าต้องแสดงนามของตนและคำว่า ผู้ค้าของเก่า ไว้ ณ ที่ทำการค้าของตน พร้อมทั้งใบอนุญาตในที่อันเห็นได้แจ้ง” นั้น มีความหมาย 2 ประการ คือ 1. ต้องมีสถานที่ทำการค้าที่เป็นหลักแหล่งและแน่นอน และ 2. ใบอนุญาต 1 ใบ ใช้ได้กับ 1 สถานประกอบการ ดังนั้น หากตามคำถามข้างต้น มีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะต้องได้รับอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว ผู้ที่จะจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตด้วย จะอ้างว่ารับมาจากร้านที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วไม่ได้ เพราะใบอนุญาต 1 ใบ จะใช้ได้กับ 1 สถานประกอบการเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: