วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

การอนุญาตเปิดสถานบริการ

1. การขออนุญาตตั้งสถานบริการใหม่ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (พื้นที่ Zoning) นั้น แม้ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ จะต้องไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง แต่ถ้าหากว่าสถานบริการนั้นตั้งมานานก่อนที่จะมีประชาชนเข้ามาพักอาศัยในบริเวณดังกล่าว และมีผู้ร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวน ก็เป็นหน้าที่ของอำเภอและจังหวัด ที่จะต้องแจ้งให้สถานบริการลดเสียงรบกวนลงในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนประชาชน โดยอาจแจ้งเตือนด้วยวาจาหรือแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และหากสถานบริการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน ก็เป็นหน้าที่ของอำเภอที่จะต้องจับกุมดำเนินคดี โดยอาจใช้ พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 13 (7) หรืออาจใช้ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเหตุรำคาญโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแจ้งโดยตรงที่ปลัดอำเภอ หรือนายอำเภอท้องที่นะครับ 2. กรณีสถานบริการที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นหน้าที่โดยตรงของอำเภอท้องที่ คือ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ที่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้มีการละเมิดกฎหมาย หากประชาชนผู้ใดพบเห็นการละเมิดกฎหมาย ขอให้แจ้งได้โดยตรงที่ปลัดอำเภอหรือนายอำเภอท้องที่ หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้ทำหนังสือแจ้งมาได้ที่สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) ถ.นครสวรรค์ เขตดุสิต กทม. 10300 ทางสำนักการสอบสวนและนิติการจะดูแลให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อนึ่งขอแจ้งไปยังอำเภอด้วยว่า พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2550 เป็นต้นมา ซึ่งมีเนื้อหากำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดและอำเภอเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรา 14 (มาตรา 61/1 (1)) ประกอบมาตรา 8 (มาตรา 52/1 (2)) ซึ่งได้บัญญัติให้อำเภอ “มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม” ดังนั้นหากปรากฏกรณีการละเมิดไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนกฎหมายขึ้นในเขตอำเภอ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอำเภอที่จะต้องจัดการดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ 3. การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด มิใช่กรมการปกครอง กรมการปกครองเพียงแต่กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดนโยบายแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากรมการปกครองก็ได้วางแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการโดยให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้นหากประชาชนท่านใดเห็นว่า การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการแห่งใดจะไม่เป็นการเหมาะสมก็ขอให้แจ้งความเห็นไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ได้โดยตรงครับ

ไม่มีความคิดเห็น: