วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

ขั้นตอนการเปิดร้านเกมส์ เน็ตอย่างถูกต้อง

เริ่มต้น 1. หาที่เช่า ขอหนังสือยินยอมจากเจ้าของให้เช่า พร้อมสำเนาประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน 2. ไปจดทะเบียนพาณิชย์ที่พาณิชย์จังหวัด (กรณีต่างอำเภอไปจดที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เอกสารที่ต้องนำไป 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. ค่าธรรมเนียม 50 บาท รอครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ 3. เมื่อได้ใบทะเบียนพาณิชย์ ไปขออนุญาติใบเสียภาษีรายได้ ที่สรรพากรประจำเขตที่เราเปิดร้าน (ไม่ต้องกังวลเปิดใหม่เสียขั้นต่ำ 500 บาท ปีต่อไปประเมินจากรายได้และรายได้ แต่ไม่เยอะหรอก) 4. ได้เอกสาร 1. ทะเบียนพาณิชย์ 2.บัตรเสียภาษีรายได้ 3.หนังสือยินยอมเจ้าของอาคารที่เราเช่าพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน 4.หนังสือรับรองของข้าราชการตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป พร้อมสำเนาบัตรข้าราชการ 5. ไปขออนุญาติที่สถานีตำรวจในเขตที่เราเปิดร้าน กรอกข้อมูลต่างๆ ที่เขาเตรียมให้ พร้อมเอกสารต่างๆ ที่กรมตำรวจแจ้งมา 6. จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอ สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาตรวจที่ร้าน เพื่อออกใบอนุญาติ ถ้าผ่านก็ได้รับใบอนุญาติ แต่ถ้าไม่ได้ก็แก้ไข เช่น เสียงดัง ต้องกั้นกระจก หรือเป็นที่แออัด มืด ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ก็ต้องแก้ไข แต่ถ้าผู้นำชุมชนไม่อนุญาติ ก็ต้องย้ายสถานที่ครับ 7. เมื่อได้เอกสารครบแล้ว สุดท้ายก็คือ ซื้อลิขสิทธ์โปรแกรม inwdows, game ให้ถูกต้องทั้งหมด 8. แค่นี้ก็เปิดกิจการได้เลยครับ ทำเรื่องการตลาดต่อไป

การขอ "ใบอนุญาต ป.3"

การขอใบอนุญาต ป.3 ในกรณีที่ใบ ป.3 ซึ่งมีอายุ 6 เดือน หมดอายุแล้ว จะไม่สามารถขอต่ออายุใบ ป.3 ใหม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวสามารถขอใหม่ได้ โดยนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ อาจพิจารณาโดยใช้พยานหลักฐานเดิม ประกอบการพิจารณาหรือนายทะเบียนฯ จะให้ยื่นพยานหลักฐานใหม่ก็ได้ ส่วนการที่นายทะเบียนผู้ออกใบอนุญาต ย้ายออกจากท้องที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว ไม่มีผลต่อการพิจารณา เนื่องจากการพิจารณาอนุญาต ป.3 เป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนอาวุธปืน มิใช่อำนาจของบุคคลโดยเฉพาะครับ หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมประการใด กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง (วังไชยา) โทร. (02) 282-0775, (02) 281-1224, (02) 356-9584, (02) 356-9548

ขอรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมาย ปืน บีบี กัน

ได้มีการพิจารณาจากคณะกรรมการกฎหมายที่รับผิดชอบแล้ว เป็นอาวุธปืนครับ เมื่อเป็นอาวุธปืน การมีและใช้ หรือการสั่งนำเข้า ก็ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490

การส่งบัญชีทรัพย์สินของผู้สมัคร อบต.

การส่งบัญชีทรัพย์จะอิงรายได้ของ อบต. เป็นหลัก คือ อบต.จะต้องมีรายได้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทต่อปี ขึ้นไป จึงจะต้องส่งบัญชีทรัพย์

เปิดร้านขายกระเป๋า Brand name มือสอง

การที่คุณจะเปิดร้านขายกระเป๋าแบรนด์เนมมือสอง ถ้าเป็นของแท้ ไม่ใช่สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทำเทียมเลียนแบบก็สามารถเปิดร้านได้เลย เพราะไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 , ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533 ซึ่งได้ให้ คำจำกัดความว่า การขายทอดตลาด หมายถึง การขายโดยเปิดเผยแก่มหาชน ด้วยวิธีให้โอกาสแก่ผู้ประมูลราคา ผู้ใดให้ราคาสูงก็มีสิทธิซื้อทรัพสินนั้นได้ และคำว่า ของเก่า หมายถึง ทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึงของโบราณด้วย ดังนั้น คุณสามารถเปิดร้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาตประกอบการครับ เพียงแต่จดทะเบียนในเรื่องของการเสียภาษีเงินได้เท่านั้น

คนไทยแต่งงานกับคนต่างชาติจะมีผลเกี่ยวกับสัญชาติอย่างไร

การแต่งงานระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย หรือตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศที่ต้องการจดทะเบียนนั้นก็ได้ ซึ่งกฎหมายไทยการแต่งงานต้อง
1.จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอในไทย หรือต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ2. ถ้าชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ต้องให้พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่ายให้ความยินยอม3. ชายและหญิงต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์4. การแต่งงานที่ทำตามกฎหมายต่างประเทศจะได้รับการยอมรับตามกฎหมายไทยด้วย
ข้อจำกัดของการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย บุคคลเหล่านี้จะจดทะเบียนสมรสกันไม่ได้
1. ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา 2. ชายหญิงที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา3. ผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้4. ชายหรือหญิง จะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้5. หญิงที่เป็นหม้าย เพราะสามีตายหรือหย่าขาดจากสามี ห้ามมิให้ทำการจดทะเบียนสมรสใหม่ภายใน 310 วัน หลังจากวันสิ้นสุดของการสมรส ยกเว้นให้จดทะเบียนสมรสได้ในกรณีคลอดบุตรแล้วภายในระยะเวลา 310 วัน หรือจดทะเบียนสมรสกับสามีเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้มีครรภ์ หรือมีคำสั่งศาลให้สมรสได้
สามีเป็นคนไทย ภริยาเป็นต่างชาติ เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วภริยาชาวต่างชาติจะขอสัญชาติไทยได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทย มาตรา 9 โดยยื่นขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้อนุมัติ พร้อมยื่นหลักฐานการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อรัฐมนตรีอนุมัติให้ได้สัญชาติไทยแล้ว ต่อมาแม้หย่าขาดจากการสมรส ภริยาชาวต่างชาติก็ยังคงได้สัญชาติไทยต่อไป
สามีเป็นคนต่างชาติ ภริยาเป็นคนไทย เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีชาวต่างชาติจะขอสัญชาติไทยได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทย มาตรา 10 แต่การขอจะยุ่งยากกว่าในกรณีของภริยาที่เป็นต่างชาติ คือ สามีต้องอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องมีความรู้ภาษาไทยอย่างดี ต้องมีความประพฤติดี ต้องมีอาชีพมีงานทำ และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นต่างชาติ ลูกจะได้สัญชาติไทย โดยหลักสายโลหิต ไม่ว่าลูกจะเกิดในหรือนอกประเทศไทย แต่พ่อต้องเป็นพ่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้พ่อตายหลังจากลูกเกิด ลูกก็ยังได้สัญชาติไทย
พ่อเป็นชาวต่างชาติ แม่เป็นคนไทย ลูกจะได้สัญชาติไทยโดยหลักสายโลหิต ไม่ว่าลูกจะเกิดในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าพ่อจะเป็นพ่อที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ลูกก็จะได้สัญชาติไทย กล่าวคือ แม้พ่อกับแม่จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกก็ได้สัญชาติไทย และแม้ต่อมาแม่ตาย ลูกก็ยังคงได้สัญชาติไทย
พ่อและแม่เป็นชาวต่างชาติ แต่ลูกเกิดในประเทศไทย ลูกจะได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน แต่มีข้อยกเว้นคือ
1. ลูกจะไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าพ่อหรือแม่อยู่ในประเทศไทยโดยมิถูกต้องตามกฎหมาย หรืออยู่แบบชั่วคราว หรืออยู่โดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้อยู่ได้2. ลูกจะไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าพ่อหรือแม่เป็นเจ้าหน้าที่สถานทูต สถานกงสุล หรือเป็นลูกจ้างหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระหว่างประเทศ หรือบุคคลในครอบครัวหรือคนรับใช้ของคนดังกล่าว

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ....เป็นอย่างไร

นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เกิดประโยชน์จากความคุ้มครองตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติดังกล่าวพอสมควร ในการที่จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนจากความเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ หรือแม้แต่การสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ระยะเวลาผ่านมาสิบปีเศษ ทางราชการได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขและจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ให้มีอัตราที่สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น กรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 สำหรับกรณีเสียชีวิต , กรณีเสียชีวิตภายหลังจากการรักษาพยาบาล , กรณีสุญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ก็ได้มีการปรับแก้จำนวนเงินที่ชดใช้ใหม่
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้ประสบภัยอีกหลายคนที่มิได้รับการชดใช้ หรือไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันหรือเจ้าของรถได้ เช่น กรณีชนแล้วหนี แต่ผู้ประสบภัยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจากไม่ทราบว่าตนสามารถเรียกร้องเอาจาก "กองทุนทดแทนประสบภัยจากรถ" ได้ ซึ่งกองทุนนี้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถและการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ เรามาทบทวนสาระหลักๆ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กันก่อน
ค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีบาดเจ็บเป็นค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเสียชีวิตเป็นค่าปลงศพ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย / ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้
กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ
กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) รวมๆแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย / ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย / ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้
กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามความเป็นจริง ไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสาร / บุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายกรณีบาดไม่เกิน 50,000 บาทเจ็บ และกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย) 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา)
อย่างไรจึงจะได้รับความคุ้มครองในกรณีสูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสูญเสียอวัยวะ / ทุพพลภาพอย่างถาวร ที่จะได้รับจำนวนเงินความคุ้มครอง 80,000 บาท ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้
1. ตาบอด 2. หนูหนวก 3. เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด 4. สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ 5. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด 6. จิตพิการอย่างติดตัว 7. ทุพพลภาพอย่างถาวร
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ประสบภัย / ทายาทต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น โดยยื่นคำร้องต่อบริษัทประกันภัย / บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ฯ หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยกรณีไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้ พร้อมหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล 2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อในบัตรเป็นผู้ประสบภัย 3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย 4. สำเนาใบมรณะบัตร กรณีเสียชีวิต 5. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ 6. สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยคืออะไรกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯในการยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ ผู้ประสบภัย / ทายาท จะต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ โดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่
1.สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย 2. สำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด 3.สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทั้ง 4 เขตหวังว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์และได้รับความเดือดร้อน ผู้ประสบภัยคงจะเข้าใจถึงความสำคัญของ"กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ" และคงจะได้ทราบถึงวิธีการที่จะขอรับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวแล้วนะครับ

ถ้ามีคนเข้ามาปลูกบ้านบนที่ดินของเรา จะต้องทำอย่างไร

ถ้าที่ดินของเรา จู่ๆ ก็มีใครไม่รู้เข้าปลูกบ้านลงบนที่ดินของเราหน้าตาเฉย เมื่อเรารู้แล้ว เราจะต้องทำอย่างไร จะบอกให้เขารื้อถอนบ้านออกไปทันทีได้หรือไม่
การที่มีใครสักคนเข้าไปปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินของคนอื่นนั้น จะต้องดูก่อนว่าเขามีสิทธิอะไรมารองรับการกระทำนั้นบ้าง ถ้าเป็นการเช่าที่ดินของคนอื่นเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยโดยมีสัญญาเช่าถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหาอะไร สัญญาเช่าที่ดินมีเงื่อนไขกำหนดไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เช่น เช่าที่ดินกันนานกี่เดือนกี่ปี หรือเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าแล้วให้บ้านตกเป็นของเจ้าของที่ดินทันที ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
แต่ถ้ามิใช่เป็นการเช่าที่ดินโดยมีสัญญาเช่าต่อกัน การที่มีคนเข้าไปปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินของคนอื่น บ้านหรือโรงเรือนจะเป็นสิทธิของใคร กฎหมายได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของที่ดินไว้ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป
1. ถ้ามีใครมาสร้างบ้านหรือโรงเรือนลงบนที่ดินของเราโดยสุจริต กฎหมายกำหนดว่า ให้โรงเรือนนั้นตกเป็นของเราแต่เราต้องชดใช้ราคาของที่ดินที่เพียงเท่าที่เพิ่มขึ้น เพราะการมีโรงเรือนขึ้นในที่ดินของเรา (เช่น ที่ดินเปล่าๆ เดิมมีราคา 100,000 บาท แต่พอมีคนเข้ามาสร้างบ้านขึ้นในที่ดิน ทำให้ที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาท นั่นคือต้องใช้ราคาที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้น 20,000 บาท ให้แก่ผู้ปลูกสร้างและเราเอาบ้านไว้ ส่วนคำว่า "ราคาของที่ดินที่เพียงเท่าที่เพิ่มขึ้น" นั้น มิได้หมายความว่าเป็นราคาของตัวบ้านที่สร้างขึ้นนะครับ) แต่ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเรามิได้ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลย ให้คนเข้ามาปลูกบ้านบนที่ดินของเรา เราจะบอกปัดไม่ยอมรับเอาบ้านนั้นก็ได้และเรียกร้องให้เขารื้อถอนออกไป และทำให้ที่ดินเหมือนเดิมก็ได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าการรื้อถอนโรงเรือน , การทำให้ที่ดินเป็นเหมือนเดิมนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินสมควร เราจะเรียกร้องให้คนสร้างซื้อที่ดินของเราทั้งหมดหรือบางส่วนตามราคาตลาดก็ได้
2. ถ้ามีใครมาสร้างบ้านหรือโรงเรือนในที่ดินของเราโดยไม่สุจริต กฎหมายกำหนดว่า คนปลูกสร้างจะต้องทำให้ที่ดินของเราเป็นตามสภาพเดิมเพื่อส่งคืนให้แก่เรา โดยจะต้องรื้อถอนโรงเรือนออกไปด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง เว้นแต่ เราจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่คือส่งคืนโดยไม่ต้องรื้อบ้านออกไปด้วย แต่เราจะต้องชดใช้ราคาบ้านนั้นหรือเราจะเลือกใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้น เพราะมีบ้านเพิ่มบนที่ดินนั้นก็สุดแท้แต่เราจะเลือกวิธีใด
3.ถ้าเป็นกรณีการสร้างบ้านหรือโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของเราโดยสุจริต กฎหมายกำหนดว่า คนปลูกสร้างนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เราโดยถือเป็นค่าใช้ที่ดินของเรา และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ถ้าต่อมาโรงเรือนนั้นพังทะลายสูญสิ้นไป เราก็มีสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นเสียก็ได้
4. ถ้าเป็นกรณีการสร้างบ้านหรือโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของเราโดยไม่สุจริต กฎหมายกำหนดว่าเรามีสิทธิเรียกร้องให้คนปลูกสร้างรื้อถอนโรงเรือนออกไป และทำให้ที่ดินของเราเป็นสภาพเหมือนเดิม โดยคนปลูกสร้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเอง

เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ

สังคมไทยทุกวันนี้มีคนรวยน้อยแต่มีคนจนมากรายได้ไม่พอรายจ่ายจึงจำเป็นต้องมีการกู้ยืมกัน ทุกวันนี้ได้เกิดเป็นธุรกิจเงินกู้ทั้งถูกต้องตามกฎหมายก็มีและที่ผิดกฎหมายก็มาก กฎหมายจึงต้องควบคุมมิให้มีการเอาเปรียบกันเกินไปเช่นการ ควบคุมอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โดยหลักแล้ว มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654บัญญัติว่า "ห้ามมิให้เรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ดังนั้นการกู้ยืมเงินที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือร้อยละ 15 ต่อปี (เว้นแต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นที่กฎหมายยกเว้นให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ตามกฎหมายเฉพาะ) ดอกเบี้ยเกินกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ ผู้ให้กู้จะฟ้องเรียกร้องบังคับมิได้
แต่ในความเป็นจริงโลกมิได้สวยงามดังที่คิด มีการเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้กันโหดเหลือเกิน เช่น เรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมร้อยละ 3 ต่อเดือน(นั่นเท่ากับร้อยละ 36 ต่อปีเชียวนะครับ) หรือร้อยละ 5 ต่อเดือน (ร้อยละ 60 ต่อปี) จะเห็นได้ว่าข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น แล้วถ้าผู้ให้กู้จะกลับมาเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายคือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เหตุผลก็ตรงตัวอยู่แล้วครับว่า เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะเสียแล้ว ถือว่าไม่มีดอกเบี้ยต่อกัน ก็เท่ากับว่าไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่เลย (แม้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จะระบุว่าถ้าในสัญญาเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตามเพราะข้อตกลงตกเป็นโมฆะเนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3)
แต่เจ้าหนี้ไม่ต้องตกใจว่าเงินที่ให้กู้จะสูญเปล่า และลูกหนี้ก็ไม่ต้องไชโยโห่ร้องนะครับ แม้ข้อตกลงเรื่อง ดอกเบี้ยจะตกเป็นโมฆะ ถือว่าไม่มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยต่อกัน แต่สัญญากู้ยืมเงินยังสมบูรณ์อยู่ แล้วจะคิดดอกเบี้ยกันได้หรือไม่? อัตราร้อยละเท่าใด? ประเด็นนี้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า " ถ้ามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี" ดังนั้น เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินต้น ผู้กู้ก็จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (ฎีกาที่ 4010/2530, 999/2531 )
กรณีที่ผู้กู้ได้เคยชำระดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว เช่น อัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 5 ต่อเดือน เช่นนี้ ผู้กู้จะมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยนั้นคืนจากผู้ให้กู้ได้หรือไม่? หรือผู้กู้จะนำมาหักกับดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ได้หรือไม่? ซึ่งถ้าทำได้ผู้กู้ก็อาจนำมาหักดอกเบี้ยจากเงินต้นได้ซึ่งอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ กรณีนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาแล้วโดยวินิจฉัยว่า "การที่ผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่ผู้ให้กู้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407) จึงไม่มีสิทธิที่จะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมาย หรือ หักจากยอดเงินต้นให้ลดน้อยลงได้ "(ฎีกาที่ 4133/2529 ,999/2531 ,533/2532)

การครอบครองปรปักษ์...เป็นอย่างไร

คำว่า "การครอบครองปรปักษ์" หมายถึง การที่มีคนอื่นเข้ามาแย่งการครอบครองสิทธิในทรัพย์สินของเรา กฎหมายแพ่งได้เขียนเรื่องนี้ไว้ ความว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"
จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ไว้ 6 ประการคือ
1.การครอบครองมีการเข้ายึดถือเอาทรัพย์สิน
2.ทรัพย์สินของคนอื่น คือทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่ กรณีที่ดินต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจองเท่านั้น
3.โดยสงบ เป็นการเข้าไปครอบครองโดยไม่มีการใช้กำลังบังคับ ไม่มีใครมาขับไล่ ฟ้องร้อง
4.โดยเปิดเผย พูดง่ายๆประสาชาวบ้านก็คือ หน้าตาเฉย
5.ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ คนที่เข้าไปครอบครองต้องมีเจตนาเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเป็นการครอบครองเพื่อตนเอง มิใช่เป็นการเข้าไปครอบครองแทนเจ้าของ
6.ถ้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน ฯลฯ ต้องติดต่อกันสิบปี แต่ถ้าครอบครองสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้) ต้องติดต่อกันห้าปี การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองติดต่อกันตลอดมาตามที่กฎมายกำหนด
ทีนี้ ถ้าเป็นกรณีเข้าไปครอบครองทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของคนอื่น เช่น ที่ดินที่เรียกกันว่า "ที่ดินมือเปล่า" หลักฐานที่เจ้าของที่ดินมีอยู่ ถือว่ามี "สิทธิครอบครอง" เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ ได้แก่ น.ส.3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) , น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ) , น.ส.2 หรือใบจอง (หนังสือที่รัฐอนุญาตให้ครอบครองที่ดินชั่วคราว) , น.ส.5หรือใบไต่สวน (หนังสือที่ทำขึ้นเพื่อการจะออกโฉนดที่ดิน) , ใบนำ (หนังสือที่ออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน) , ส.ค.1 (หนังสือแจ้งการครอบครอง) , ที่ดินที่มีสิทธิครอบครองแล้ว แต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิใดๆ เลย ที่ดินทั้ง 7 ลักษณะ ที่กล่าวมานี้ ถ้าถูกแย่งการครอบครอง จะไม่สามารถใช้กำหนดอายุความสิบปีเหมือนกับกรณีที่ดินที่เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธินะครับ ต้องถือตามที่กฎหมายเขียนไว้ว่า "ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ฯลฯ และ การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง"
ดังนั้น ท่านใดที่มีที่ดินมากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่ดินมือเปล่าแล้วละก้อ ต้องหมั่นตรวจสอบดูแลกันทุกปีนะครับ เพราะที่ดินมือเปล่าถ้ามีคนอื่นเข้ามาครอบครองเพียง 1 ปี ก็ได้สิทธิครอบครองไปเสียแล้ว ท่านจะฟ้องศาลเพื่อเรียกคืนก็ไม่ทันการ ขาดอายุความเสียอีก เนื่องจากที่ดินมือเปล่าต้องฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง มิใช่นับแต่เวลาที่เจ้าของที่ดินทราบนะครับ

ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ มนุษย์ได้คิดค้นนวัตรกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่ "เงินตรา" ซึ่งนับถือกันว่าเป็นพระเจ้า ก็ยังมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์จากกระดาษธนบัตรกลายมาเป็นการ์ดแข็งๆเพียงใบเดียวแต่ทรงคุณค่ามหาศาล ภาษาทางการเรียกว่า "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ที่ชาวบ้านเรียกว่าบัตรเครดิต ,บัตรเอทีเอ็ม ที่เราทุกคนรู้จักคุ้นเคยและกลัดกลุ้มกับมันอยู่ทุกวันนี้
บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสิ่งใหม่ในสังคมที่เกิดขึ้นมานานหลายปี แต่กฎหมายอาญายังมิได้มีการบัญญัติคำจำกัดความและลักษณะของความผิดให้ครอบคลุมชัดเจน ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามและความผิดในกฎหมายอาญา และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป
"บัตรอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า เอกสารหรือวัตถุไม่ว่าจะมีรูปร่างใดที่ออกให้ผู้มีสิทธิใช้ จะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใด รวมถึงการใช้วิธีการทางแสงหรือทางแม่เหล็กให้เกิดข้อความตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตรทั้งที่สามารถมองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็คทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขโดยมิได้ออกเอกสารให้
ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็คทรอนิกส์ กฎหมายเขียนการกระทำที่เป็นความผิดไว้ว่า
· ผู้ใดทำบัตรอิเล็คทรอนิกส์ปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไข ในบัตรที่แท้จริงอันน่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าเป็นบัตรอิเล็คทรอนิกส์ที่แท้จริง ผิดฐานปลอมบัตรอิเล็คทรอนิกส์ ต้องจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 100,000 บาท
· ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้บัตรอิเล็คทรอนิกส์โดยรู้ว่าเป็นของที่ปลอมขึ้นมา ต้องจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับ 20,000 บาท -140,000 บาท
· ผู้ใดใช้บัตรอิเล็คทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
· ผู้ใดทำหรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลง หรือสำหรับให้ได้ข้อมูลในการปลอมแปลง ต้องจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 100,000 บาท

วิธีคำนวณการเสียภาษีโรงเรือน กรณีผู้เช่าเป็นผู้เสียคำนวณอย่างไร

ตามกฏหมายผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียภาษีโรงเรือน แต่ถ้าเราผลักภาระให้ผู้เช่าจ่าย เงินภาษีโรงเรือนที่จ่ายจะถือเป็นรายได้ค่าเช่าด้วย ดังนั้นภาษีโรงเรือนจะมากขึ้นประมาณ 14.29%ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าบ้านทั้งปี 1,000,000 บาทผู้ให้เช่าเป็นผู้จ่ายจะต้องเสียภาษีโรงเรือน 125,000 บาทแต่ถ้าผู้เช่าเป็นผู้จ่าย เงิน 125,000 จะถือว่าเป็นค่าเช่าด้วย ดังนั้นต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 12.5 % ของ 125,000 บาท เป็นเงิน 15,625 บาท และเงิน 15,625นี้ เป็นเงินค่าเช่าด้วย ต้องเสียภาษีอีก คิดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเหลือศูนย์สรุปใช้สูตรที่เขตให้มาง่ายที่สุดแล้วครับ

ต่อใบอนุญาตโรงแรม

การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต ต้องตรวจสอบสภาพของโรงแรมก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา กรณีโรงแรมมีการเพิ่มหรือลดจำนวนห้องพัก ก็ต้องตรวจสอบสภาพของโรงแรมว่าห้องพักที่เพิ่มหรือลดนั้น มีผลกระทบถึงโครงสร้างของโรงแรมหรือไม่ หากมีผลกระทบนายทะเบียนสามารถไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตได้ ดังนั้น การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตจึงต้องพิจารณาประกอบกับการเพิ่มหรือลดจำนวนห้องพักไปในคราวเดียว

ลดของรางวัลในการชิงโชค

การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. การพนันฯ กำหนดโทษไว้ในมาตรา 14 เฉพาะกรณีจัดให้มีการเล่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น เมื่อขออนุญาตแล้วโดยมีรางวัล 10 รายการ แต่ลดของรางวัลเหลือ 2 รางวัล หากได้มีการโฆษณาหรือชักชวนให้มีผู้เข้าเล่นก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เนื่องจากรายละเอียดคำถามขาดข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบการพิจารณาอนุญาตลดของรางวัล จึงไม่สามารถพิจารณาได้

ยกเลิกการชิงโชค

การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพตามมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.การพนันฯ กำหนดโทษไว้ในมาตรา 14 เฉพาะกรณีจัดให้มีการเล่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น เมื่อขออนุญาตแล้วแต่ยกเลิกหรือไม่จับรางวัล หากได้มีการโฆษณาหรือชักชวนให้มีผู้เข้าเล่นก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ หากผู้จัดดังกล่าวมาขออนุญาตจัดในครั้งต่อไป หากผู้จัดไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าเหตุใดจึงไม่จับรางวัลหรือยกเลิกการจับรางวัล ก็จะถือเป็นข้อเท็จจริงหนึ่งในการพิจารณาไม่ออกใบอนุญาตให้อีกต่อไป

การคิดค่าบริการขนย้าย ต้นไม้ ในกรุงเทพมหานคร

สำหรับอัตราค่าบริการขั้นต่ำอยู่ที่ 1,500 บาท ปริมาณอยู่ที่ 1 คันรถสิบล้อ หากน้อยกว่านั้นราคาก็จะลดตามปริมาณของต้นไม้

ระยะถอยร่น

ระยะร่นจากถนนต้องพิจารณาตามความกว้างของถนนครับ ส่วนด้านข้างถ้าเป็นบ้านแถวยาวไม่เกิน 40 เมตรก็ต่อชิดกันได้เหมือนเดิม แต่ถ้าความยาวเดิมเกิน 40 เมตรต้องร่นข้างใดข้างหนึ่ง 2 เมตร เพื่อไม่ให้ความยาวรวมทั้งแถวเกิน 40 เมตร ท่านอาจต้องการก่อสร้างเป็นบ้านเดี่ยวแต่การก่อสร้างบ้านเดี่ยวระหว่างบ้านแถว แต่ระยะร่นจะมีปัญหามากเพราะหากจะเปิดหน้าต่างก็ต้องร่น 2 เมตรที่ด้านนั้น หรือหากจะเป็นผนังทึบก็อาจจะร่น 50 เซนติเมตรไม่ได้เพราะติดเกณฑ์บ้านแถวให้ยาวรวมไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งระยะห่าง 50 ซม.ยังนับรวมเป็นความยาวของแถวด้วย ไม่ทราบจะเข้าใจหรือเปล่าหากมีข้อสงสัย โทร.02-299-4364 ครับ

การติดตั้งลิฟท์

ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไม่ได้มีกำหนดว่าอาคารกี่ชั้นต้องมีลิฟต์ แต่มีเกณฑ์สำหรับอาคารสูง ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป จะต้องมีลิฟต์ดับเพลิงด้วยดังนั้นเท่ากับเป็นการกำหนดว่าอาคารที่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงต้องมีลิฟต์ครับ

เว็บไซต์คิดค่าน้ำประปา

ตรวจสอบได้ที่ http://www.pwa.co.th/service/billing.php

เรื่องการคิดค่าน้ำประปา

1.จะเรียกว่าค่าน้ำขั้นต่ำหรือค่ารักษามาตร ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย (ประเภท 1หรือ111,113) จะเสีย 85.60 บาท สามารถใช้น้ำได้ตั้งแต่ 0 - 6 หน่วย ( ลบ.ม.) ถ้าเป็นห้างร้าน,ธุรกิจเล็ก,อาคารพาณิชย์ (ประเภท 2) จะเสีย 139.10 บาท สามารถใช้น้ำได้ตั้งแต่ 0 - 10 หน่วย ( ลบ.ม.) ถ้าเป็นธุรกิจใหญ่,โรงงาน (ประเภท 3) จะเสีย 246.10 บาท สามารถใช้น้ำได้ตั้งแต่ 0 - 17 หน่วย ( ลบ.ม.) ทั้งนี้เป็นอัตราสำหรับมาตรขนาด 0.50 นิ้ว2.ในใบเสร็จจะมีข้อมูลการอ่านมาตร คือ จดครั้งนี้และจดครั้งก่อน โดยนำจดครั้งนี้เป็นตัวตั้งหักด้วยจดครั้งก่อน เช่น จดครั้งนี้ 78 หน่วยและจดครั้งก่อน 70 หน่วย จำนวนที่ใช้ คือ 78 - 70 = 8 หน่วย3. รายละเอียดอยู่ในข้อ.1

การนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน

หลักเกณฑ์ ขั้นตอน การสั่ง นำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ก่อนอื่นขอให้พิจารณาถึงคำจำกัดความของคำว่า “อาวุธปืน” และ “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 ก่อนดังนี้ “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรือัดลมหรือกลไกอย่างใด ซึ่งอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง “สิ่งเทียมอาวุธปืน” หมายความว่า สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน จากคำจำกัดความดังกล่าว สิ่งเทียมอาวุธปืนจึงน่าจะมีกลไกแบบอาวุธปืน แต่มีรูปร่างลักษณะคล้ายอาวุธปืน จนน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการสั่ง นำเข้าเพื่อการประดับตกแต่ง หรือเพื่อการแสดง หากสิ่งที่สั่ง นำเข้ามีรูปลักษณะและเครื่องกลไกอย่างอาวุธปืน น่าจะไม่ใช่สิ่งเทียมอาวุธปืน แต่เป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 ยกตัวอย่างเช่น เครื่องเล่น WAR GAME PAINTBALL ถือเป็นอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 สำหับ BB GUN ที่มีการนิยมเล่นกันในขณะนี้ เห็นว่ามีรูปลักษณะและเครื่องกลไกอย่างอาวุธปืนทุกประการ ซึ่งกรมการปกครองจะแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การสั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน สรุปได้ดังนี้ 1. การสั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนส่วนตัว เอกสารประกอบคำขอ - บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัวของพนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พร้อมสำเนา - ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา - หลักฐานการประกอบอาชีพ รายได้ หลักทรัพย์ พร้อมสำเนา - รูปแบบสิ่งเทียมอาวุธปืนที่จะขอสั่ง นำเข้า การยื่นคำขอ - ยื่นคำขอตามแบบ ป.1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ขออนุญาตมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณา - บันทึกถ้อยคำผู้ขอสั่ง นำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน เพื่อประกอบการพิจารณาว่ามีวัตถุประสง์เพื่ออะไร จำนวนเท่าใด - รวบรวมเอกสารหลักฐาน เสนอนายทะเบียนท้องที่พิจารณา หากอนุมัติ ฯ ออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ตามแบบ ป.2 หากไม่อนุมัติ แจ้งผู้ขออนุญาตทราบเป็นหนังสือ พร้อมเหตุผล

ขอตั้งโรงเล่นโบว์ลิ่ง

การขออนุญาตตั้งโรงเล่นโบว์ลิ่งในชั้นแรกนี้ ท่านต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขต เพราะโรงเล่นโบว์ลิ่งเป็นอาคารเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคา
ส่วนการเล่นโบว์ลิ่งจะมีสองลักษณะ คือ เป็นการเล่นในทางกีฬาเพื่อความเพลิดเพลิน หรือเป็นวิธีการเล่นการพนันเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับผู้จัด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 2.1 ถ้ามีการกำหนดรางวัลไว้ว่า ผู้เล่นทอยถูกแก่นไม้ล้มกี่อัน จะได้ของอะไรตอบแทนลดหลั่นกันไปตามความสามารถของผู้ทอย เป็นการเล่นการพนันลักษณะคล้ายปาหน้าคน ปาสัตว์หรือสิ่งใดๆ หมายเลข 11 ในบัญชี ข. พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 เพราะเป็นการเล่นระหว่างผู้จัดให้มีการเล่นกับผู้เข้าเล่นโดยตรง ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตให้เล่นเฉพาะงานกาชาดประจำปีเท่านั้น งานอื่นที่มิใช่งานกาชาดจะไม่อนุญาตโดยเด็ดขาด เพราะมิใช่งานเพื่อหารายได้เข้าการสาธารณะกุศล 2.2 แต่ถ้าเล่นมีกำหนดไว้ว่า ให้ผู้เล่นแสดงฝีมือความแม่นยำแข่งขันกันเอง คือกำหนดว่า ในคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งของงานนั้นๆ ผู้เล่นคนใดสามารถทำแต้มได้สูงสุดกว่าผู้อื่น ก็จะได้รับรางวัลตามที่กำหนดไว้ หรือมีรางวัลที่ 2 ที่ 4 อีกด้วยก็ได้ และจะมีรางวัลชนะเลิศตลอดงานอีกส่วนหนึ่งก็ได้ เป็นการแสดงฝีมือ ซึ่งการจัดให้มีการเล่นวิธีนี้ ไม่ต้องขออนุญาต

โรงแรมไม่มีที่จอดรถ

คำสั่ง มท 463/2545 ลว 15 ธ.ค.2545 ข้อ 1(3) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่จอดรถไว้ ให้โรงแรมต้องจัดให้มีที่จอดรถเพียงพอสมดุลกับห้องพัก ซึ่งเป็นนโยบายที่ รมว.มท. ได้วางไว้เป็นกรอบในการใช้ดุลพินิจ มิได้กำหนดจำนวนไว้ การพิจารณาอนุญาต จึงให้นายทะเบียนพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีในเขตบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เนื่องจาก มท. ได้มีหนังสือวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมไว้ ตามหนังสือ ที่ มท 0307.1/ว 2952 ลว. 28 สิงหาคม 2546 ให้โรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารนั้น ต้องส่งแบบแปลนแผนผังให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ตรวจตามว่าถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่จอดรถนั้น กฎกระทรวงฉบับที่ 7 ซึ่งออกตามความใน พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2479 (ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน) ได้กำหนดให้โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถ หากห้องพักมากขึ้นก็เพิ่มจำนวนที่จอดรถมากขึ้นด้วย โดยกำหนดจำนวนที่จอดรถในเขตกรุงเทพมหานครมากกว่าในเขตเทศบาล รายละเอียดดูได้จากกฎกระทรวงดังกล่าว กรณีนอกเขตการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ให้เป็นไปตามคำสั่ง มท ที่ 463/2545 ซึ่งเป็นดุลพินิจของนายทะเบียนพิจารณาตามความเหมาะสม

เงื่อนไขของปืนสวัสดิการ

เนื่องจากบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะราย ดังนั้นเมื่อเขาเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ผู้รับโอนปืนมรดกจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขการห้ามโอน ดังนั้นจึงไม่จำต้องประทับ "ห้ามโอนเว้นแต่ตกทอดทางมรดก" และสามารถโอนขายต่อไปได้

บิลเลียดกับใบอนุญาต

การเล่นบิลเลียดที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในปัจจุบัน คือ การเล่นที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตตาม ข้อ 13 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) ออกตามความใน พ.ร.บ. การพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2534) ฯ ได้แก่ (1) การเล่นบิลเลียดซึ่งเล่นในเคหะสถานที่มีบริเวณกว้างขวางและรั้วรอบมิดชิดจำนวนไม่เกิน 1 โต๊ะ โดยผู้จัดให้มีการเล่นหรือเจ้าบ้านแล้วแต่กรณี มิได้เรียกเก็บหรือรับผลประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมจากการเล่นนั้น (2) การเล่นเพื่อการรื่นเริงในสมาคมที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำนวนไม่เกิน 5 โต๊ะ โดยสมาคมเก็บค่าเกมตามสมควร ทั้งนี้ การเล่น (1) และ(2) ให้เล่นในวันปฏิบัติราชการตามปกติระหว่างเวลา 15.00 น.กับเวลา 01.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ในวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 11.00 ถึงเวลา 01.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ตลอดจนปฏิบัติตามลักษณะข้อจำกัดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแบบใบอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นการพนันบิลเลียดด้วย ถ้าการเล่นบิลเลียดอื่นที่ไม่เป็นไปตามนี้ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นให้จัดให้มีการเล่นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ และไม่สามารถจัดให้มีการเล่นโดยขอออกใบอนุญาตได้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยไม่พิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับการเล่นดังกล่าวให้

หลักเกณฑ์การผ่อนผันเรื่องที่จอดรถโรงแรม

เรื่องที่จอดรถยนต์ของโรงแรมเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 และกำหนดในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 387/2528 และคำสั่ง มท. ที่ 463/2545 ดังนั้นหากโรงแรมดังกล่าวสร้างมากว่า 30 ปี หากตั้งมาก่อนกฎกระทรวงหรือคำสั่งดังกล่าวบังคับใช้ โรงแรมดังกล่าวก็ไม่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวง/คำสั่งดังกล่าว
ตามมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547 ผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบธุรกิจโรงแรมต่อไปต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงตามมาตรา 13 ใช้บังคับ ดังนั้นในขณะนี้ซึ่งกฎกระทรวงตามมาตรา 13 ยังไม่ใช้บังคับ จึงยังสามารถประกอบธุรกิจโรงแรมต่อไปได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

การรับมรดกสถานบริการ

กรณีผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการเสียชีวิต ทายาทสามารถดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตตั้งสถานบริการได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบข้อหากรมการปกครองว่า กรณีผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการถึงแก่กรรม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสถานบริการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการแก่ทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตตั้งสถานบริการให้เป็นไปตามมาตรา 6 อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตตั้งสถานบริการต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509

บทลงโทษสถานบริการที่ใช้ชื่อแตกต่างไปจากที่ขออนุญาต

กรณีสถานบริการใช้ชื่อแตกต่างไปจากที่ขออนุญาต ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาตรา 17 และกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ.2549 ข้อ 14 ที่กำหนดให้สถานบริการต้องใช้ป้ายชื่อให้ตรงกับชื่อในใบอนุญาตทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในกรณีที่มี โดยจะต้องติดตั้งป้ายชื่อไว้ด้านหน้าสถานบริการให้มองเห็นอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 21 ประกอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสั่งต่ออายุใบอนุญาต พักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต และกำหนดระยะเวลาในการสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ลงวันที่ 4 เมษายน 2548 ข้อ 3(1) พักใช้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ครั้งแรกมีกำหนด 10 วัน ได้

ร้านคาราโอเกะอยู่นอกโซนนิ่ง

ร้านคาราโอเกะที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ซึ่งตั้งอยู่นอกโซนนิ่งสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องปิดก่อนเวลา 24.00 น. และจะต้องไม่ดำเนินกิจการเข้าลักษณะของสถานบริการ นั่นคือ จะต้องไม่จัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปะละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า แต่ถ้าหากจะดำเนินกิจการเป็นสถานบริการ จะต้องขออนุญาตตั้งสถานบริการในเขตโซนนิ่งเท่านั้น

ของขวัญ กับของรางวัล มีความหมายอย่างเดียวกันหรือไม่

1. "ของรางวัล" หมายความว่า (1) สิ่งของหรือเงินที่ได้มาเพราะความดีความชอบ หรือความสามารถ หรือเพราะเสี่ยงโชค เช่น ถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 (2) ค่าตอบแทนที่ให้แก่ผู้ซึ่งกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จตามที่บ่งไว้ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 948) "ของขวัญ" หมายความว่า (1) สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว (2) สิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญ หรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด เป็นต้น (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 173) 2. ของขวัญในคำถามเป็น "ของรางวัล" ชนิดหนึ่งที่บริษัทนำมามอบให้แก่พนักงานที่ขายสินค้าได้ตามเป้า ซึ่งจะไม่ได้รับเท่ากันทุกคน เนื่องจากของมีจำนวนจำกัด จึงต้องจับสลากซึ่งเป็นวิธีการเสี่ยงโชค เพื่อให้ได้ผู้โชคดี ดังนั้นจึงครบองค์ประกอบของมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. การพนันฯ กล่าวคือ มีการจัดให้มีการแถมพกหรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีการจับสลาก เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพของบริษัท จึงต้องขออนุญาตก่อน

สวัสดิการปืน

โครงการสวัสดิการอาวุธปืนของกรมการปกครองรับผิดชอบโดยสำนักอำนวยการอาสารักษาดินแดน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 02-279-3006, 02-279-3009 ต่อ 301, 303, 304 ครับ สำหรับขั้นตอน ระเบียบ และคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาต สามารถดูได้จากเว็บไซด์ www.dopa.go.th

ดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นโรงแรม กับ EIA Report

ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2539 ลงวันที่ 22 มกราคม 2539 บัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 1 กำหนดให้ “โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ ที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้น” ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ปี 2535 ได้กำหนดให้เฉพาะโรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรืออยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 3 ปี 2539 ดังกล่าว ดังนั้น กรณีตามคำถามหากต้องการนำอาคารที่พักอาศัยซึ่งมีห้องพักเกินกว่า 80 ห้องขึ้นไปดังกล่าว มาเป็นโรงแรม จึงต้องมีการขอเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายควบคุมอาคาร และต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ตามหลักกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แผนผังทางหนีไฟ

1. ตามกฎหมาย โรงแรมที่อยู่ในเขตท้องที่ที่มีการประกาศให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกรณีที่โรงแรมเป็นอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบอัคคีภัยไว้ โดยใน (2) กำหนดว่า "จัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารแต่ละชั้นแสดงห้องต่าง ๆ ทุกห้อง ตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ ประตูหรือทางหนีไฟของชั้นนั้นติดไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนที่บริเวณห้องโถงหรือหน้าลิฟต์ทุกแห่งทุกชั้นของอาคาร และที่บริเวณพื้นชั้นล่างของอาคารต้องจัดให้มีแบบแปลนแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บรักษาไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก" ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 35 (6) ที่กำหนดให้ "โรงแรมต้องจัดให้มีแผนผนังแสดงทางหนีไฟไว้ในแต่ละชั้นของโรงแรมและห้องพักทุกห้อง และป้ายทางออกฉุกเฉินไว้ในแต่ละชั้นของโรงแรม" สำหรับโรงแรมที่ตั้งนอกเขตท้องที่ที่มีการประกาศให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือไม่ได้เป็นโรงแรมที่มีอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถึงแม้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายโรงแรม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างตนจึงต้องติดแผนผังแสดงทางหนีไฟด้วย 2.กรณีโรงแรมที่มีลักษณะเป็นบังกะโล ถึงแม้ว่าจะมีชั้นเดียวแต่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร "โรงแรม" เป็นอาคารสาธารณะ ไม่ได้แบ่งว่าอาคารโรงแรมจะเป็นในลักษณะใดบ้าง และตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 แม้ว่าบังกะโลจะมีชั้นเดียวก็ถือเป็นอาคารโรงแรม เมื่อเป็นโรงแรมแล้วจึงต้องติดแผนผังแสดงทางหนีไฟตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดทำเป็นผังของบังกะโลแต่ละหลังทุกหลังในบริเวณโรงแรม ติดไว้ภายในห้องพักทุกห้อง

การเปิดโต๊ะสนุ๊กเกอร์

1. ข้อ 1. และ ข้อ 2. ปัจจุบันการจดทะเบียนสมาคมแล้วตั้งโต๊ะสนุ๊กเกอร์กระทำได้ยาก เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า มีสมาคมจำนวนไม่น้อยที่มิได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของสมาคม และพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหารายได้หรือผลประโยชน์จากการตั้งโต๊ะบิลเลียดหรือสนุกเกอร์ ซึ่งส่อไปในทางแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ตามกฎหมาย อันเป็นการขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ อีกทั้งเป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุขนานัปการ เช่น ยาเสพติด การพนัน โสเภณี เป็นต้น รวมทั้งเป็นการมอมเมาเด็กนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือที่ มท. 0210/ว1937 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 สั่งการให้ทุกจังหวัดเข้มงวดกวดขันในการควบคุมและป้องกันมิให้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นบังหน้า โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อตั้งโต๊ะบิลเลียดเล่นการพนัน และตรวจตราไม่ให้นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนเข้าไปมั่วสุมเล่นบิลเลียดในสมาคม 2. การเปิดโต๊ะสนุกเกอร์โดยมิได้รับอนุญาตและเรียกเก็บค่าเกมส์ แยกเป็น 2 กรณี กรณีที่ 1 ในสมาคมที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเล่นเพื่อความรื่นเริงและมีโต๊ะไม่เกิน 5 โต๊ะ กรณีที่ 2 เคหสถานมีความผิดกฎหมาย ทั้ง 2 กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. การพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม และกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน พ.ร.บ. การพนัน พุทธศักราช 2478 ข้อ 13 (2)

ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา

- พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 17 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดขายสุราหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต" และมาตรา 46 บัญญัติว่า "ผู้ใดรับอนุญาตซึ่งกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้หรือข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือ ข้อกำหนดในใบอนุญาต เจ้าพนักงานสรรพสามิต หรืออธิบดี ผู้ออกใบอนุญาตแล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินครั้งละ 6 เดือน หรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียก็ได้ ดังนั้นการออกใบอนุญาตขายสุราจึงถือเป็นเป็นการอนุญาตทางปกครอง ในกรณีที่ร้านจำหน่ายสุรากระทำความผิด เช่น จำหน่ายสุราเกินเวลาที่กำหนด จำหน่ายสุราให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 บริบูรณ์ เจ้าพนักงานสรรพสามิตหรืออธิบดีผู้ออกใบอนุญาตแล้วแต่กรณี มีนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินครั้งละ 6 เดือน หรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียก็ได้ ซึ่งเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ไม่ใช่การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

การตั้งสาขาของสมาคมสนุ๊กเกอร์

1. หากสมาคมได้จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็สามารถจัดให้มีการเล่นการพนันบิลเลียด หรือสนุกเกอร์ที่มีลักษณะคล้ายบิลเลียดได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต แต่ต้องจัดให้มีการเล่นเพื่อความรื่นเริง จำนวนไม่เกิน 5 โต๊ะ โดยสมาคมเก็บค่าเกมตามสมควรได้ และจัดให้มีการเล่นในวันปฏิบัติราชการตามปกติ ระหว่างเวลา 15.00-01.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และในวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 11.00-01.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตลอดจนปฏิบัติตามลักษณะข้อจำกัดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นการพนันบิลเลียด (พ.น. 28) โดยอนุโลม (ตามมาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การพนัน พุทธศักราช 2478 และ ข้อ 13(2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ. การพนันฯ) แต่สมาคมจะเปิดสาขาเพื่อตั้งโต๊ะเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่สามารถกระทำได้ 2. เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พบว่ามีผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันบิลเลียด หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สนุ๊กเกอร์ เป็นต้น ตามมาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 12 (2) แห่ง พ.ร.บ. การพนัน พุทธศักราช 2478 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความ พ.ร.บ.การพนันฯข้อ 13 (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2534) ฯ ให้ดำเนินการดังนี้ (1) แจ้งข้อหา (2) จับกุมผู้ต้องหากระทำความผิด ตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (3) ยึดของกลาง (ทรัพย์สินที่พนันกัน ซึ่งจับได้ในวงการเล่น และเครื่องมือที่ใช้ในการเล่น ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. การพนันฯ) (4) ถ่ายรูป (ถ้ามีกล้อง) (5) บันทึกการจับกุม แล้วให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อรับทราบ (6) นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน (7) ให้พนักงานสอบสวนเซ็นชื่อรับผู้ต้องหาและของกลาง พร้อมทั้งลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เพี่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

หลักเกณฑ์ และระเบียบในการเปิดสนามยิงปืน

- เป็นไปตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.3/ว 3025 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง แนวทางการขออนุญาตตั้งสนามยิงปืน
- พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายทะเบียนท้องที่จึงไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้บุคคลจัดตั้งสนามยิงปืน
- สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้นายทะเบียนท้องที่ออกใบอนุญาตให้สนามยิงปืน สั่ง นำเข้า มี และใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนได้ เฉพาะสนามยิงปืนที่จดทะเบียนเป็นสมาคมเท่านั้น

การขอเปลี่ยนประเภทสถานบริการ

มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 กำหนดให้สถานบริการ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีรูปแบบการดำเนินกิจการแตกต่างกันอย่างชัดเจนและมาตรา 4 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการสถานบริการ จะต้องมายื่นขออนุญาตตั้งสถานบริการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตแล้ว จึงจะสามารถประกอบกิจการสถานบริการได้ จากประเด็นคำถามเมื่อผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการขอเปลี่ยนแปลงประเภทสถานบริการ จึงถือได้ว่าผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการไม่ประสงค์จะประกอบกิจการสถานบริการในรูปแบบเดิมที่ขออนุญาตตั้งสถานบริการครั้งแรกอีกต่อไป ซึ่งการขอเปลี่ยนแปลงประเภทสถานบริการดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิทธิในการขออนุญาตตั้งสถานบริการ กรณีนี้เสมือนกับการขออนุญาตตั้งสถานบริการใหม่ โดยในการพิจารณาอนุญาตกฎหมายกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ.2549 นั่นคือผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 6 อาคารที่ตั้งสถานบริการต้องไม่ขัดต่อมาตรา7 มาตรา 8 และต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของสถานบริการไว้แต่อย่างใด ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงประเภทสถานบริการได้ แต่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการใหม่ได้ โดยคำนึงถึงพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ประกอบด้วย รวมทั้งผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน และอาคารสถานที่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ.2549

การขอเปลี่ยนชื่อโรงแรม

ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมดำเนินการดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (1) เปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรม (2) เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพักในโรงแรม อันมีผลกระทบถึงโครงสร้างของโรงแรม (3) เปลี่ยนชื่อโรงแรม ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจึงสามารถยื่นขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงแรมได้ โดยยื่นแบบใบแจ้งความประสงค์ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจการหรือแจ้งเหตุต่าง ๆ (แบบ ร.ร. 2) พร้อมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม หากผู้ได้รับอนุญาตไม่สามารถมาได้เอง ก็ให้มีหนังสือมอบอำนาจ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบชื่อโรงแรมใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 20 แล้วจึงเสนอนายทะเบียนอนุญาต จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อเปลี่ยนชื่อโรงแรมแล้วกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเปลี่ยนใบรับแจ้งการเป็นผู้จัดการภายในกี่วัน แต่ก็ควรเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชื่อโรงแรมใหม่โดยเร็ว

เอกสารเกี่ยวกับอาวุทปืน ต้องใช้แบบพิมพ์เท่านั้นหรือเปล่า

เอกสารเกี่ยวกับอาวุธปืนที่เป็นใบอนุญาต ได้แก่ ป.2, ป.3, ป.4, ป.5 ต้องใช้แบบพิมพ์เท่านั้น เนื่องจากถือเป็นเอกสารด้านการเงิน สำหรับเอกสารแบบพิมพ์อื่นตามกฎกระทรวง หากจะทำแบบฟอร์มใหม่ จะต้องให้เหมือนแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

อัตราค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตจัดตั้งโรงแรม

การเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ในขณะอยู่ระหว่างการเสนอเป็นร่างกฎกระทรวง ซึ่งโดยหลักการค่าธรรมเนียมจะเก็บตามประเภทของโรงแรม สำหรับการแยกประเภทโรงแรม จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหลักการแล้วแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. โรงแรมที่ให้บริการห้องพักอย่างเดียว 2. โรงแรมที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร 3. โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร และห้องประชุมสัมมนาหรือสถานบริการ 4. โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร ห้องประชุมสัมมนา และสถานบริการ แต่ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม และร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทโรงแรม ยังอยู่ระหว่างการเสนอ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว กรมการปกครองจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง

การอนุญาตเปิดสถานบริการ

1. การขออนุญาตตั้งสถานบริการใหม่ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (พื้นที่ Zoning) นั้น แม้ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ จะต้องไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง แต่ถ้าหากว่าสถานบริการนั้นตั้งมานานก่อนที่จะมีประชาชนเข้ามาพักอาศัยในบริเวณดังกล่าว และมีผู้ร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวน ก็เป็นหน้าที่ของอำเภอและจังหวัด ที่จะต้องแจ้งให้สถานบริการลดเสียงรบกวนลงในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนประชาชน โดยอาจแจ้งเตือนด้วยวาจาหรือแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และหากสถานบริการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน ก็เป็นหน้าที่ของอำเภอที่จะต้องจับกุมดำเนินคดี โดยอาจใช้ พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 13 (7) หรืออาจใช้ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเหตุรำคาญโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแจ้งโดยตรงที่ปลัดอำเภอ หรือนายอำเภอท้องที่นะครับ 2. กรณีสถานบริการที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นหน้าที่โดยตรงของอำเภอท้องที่ คือ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ที่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้มีการละเมิดกฎหมาย หากประชาชนผู้ใดพบเห็นการละเมิดกฎหมาย ขอให้แจ้งได้โดยตรงที่ปลัดอำเภอหรือนายอำเภอท้องที่ หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้ทำหนังสือแจ้งมาได้ที่สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) ถ.นครสวรรค์ เขตดุสิต กทม. 10300 ทางสำนักการสอบสวนและนิติการจะดูแลให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อนึ่งขอแจ้งไปยังอำเภอด้วยว่า พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2550 เป็นต้นมา ซึ่งมีเนื้อหากำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดและอำเภอเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรา 14 (มาตรา 61/1 (1)) ประกอบมาตรา 8 (มาตรา 52/1 (2)) ซึ่งได้บัญญัติให้อำเภอ “มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม” ดังนั้นหากปรากฏกรณีการละเมิดไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนกฎหมายขึ้นในเขตอำเภอ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอำเภอที่จะต้องจัดการดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ 3. การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด มิใช่กรมการปกครอง กรมการปกครองเพียงแต่กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดนโยบายแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากรมการปกครองก็ได้วางแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการโดยให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้นหากประชาชนท่านใดเห็นว่า การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการแห่งใดจะไม่เป็นการเหมาะสมก็ขอให้แจ้งความเห็นไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ได้โดยตรงครับ

สั่งซื้ออาวุธจากโครงการจัดหาอาวุธปืนเพื่อเป็นสวัสดิการ ขรก.

กองอาสาฯ จะไม่เรียกเก็บ ป.3 และไม่มีการออก ป.4 ชั่วคราว เนื่องจากเป็นอาวุธปืนสวัสดิการ การรับอาวุธปืนฯ มีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้รับอนุญาตฯ ถือ ป.3 พร้อมหลักฐานฯ ไปรับอาวุธปืนที่กองอาสาฯ กองอาสาฯจะประทับตราแสดงรายละเอียดการจำหน่ายอาวุธปืนหลัง ป.3 ตอนที่ 3 พร้อมมอบอาวุธปืนและหนังสือรับรองการซื้ออาวุธปืนฯ 2. ผู้รับอนุญาตต้องนำ ป.3 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 พร้อมทั้งอาวุธปืนและหนังสือรับรองฯ ไปยื่นคำขอสลักหลังตัดโอนยังนายทะเบียนท้องที่ กทม. ที่ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง วังไชยา นางเลิ้ง นายทะเบียนท้องที่ กทม. จะตรวจอาวุธปืนกับ ป.3 และหนังสือรับรองฯ หากถูกต้องตรงกันจะสลักหลังตัดโอนใบ ป.3 ตอนที่ 3 มอบให้แก่ผู้รับอนุญาต สำหรับ ป.3 ตอนที่ 2 จะเก็บไว้เป็นหลักฐาน 3. ผู้รับอนุญาตต้องนำอาวุธปืน พร้อม ป.3 ที่สลักหลัง ไปแสดงต่อนายทะเบียนท้องที่ผู้ออกใบอนุญาตฯ เพื่อออกใบอนุญาต ป.4 4. เมื่อได้ใบอนุญาต ป.4 แล้ว เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการครับ

ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และการพนัน

1. ปัจจุบันกฎหมาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตเล่นการพนันยังไม่มีกำหนดให้ต้องตรวจประวัติอาชญากรรมของผู้ขออนุญาต แต่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ขออนุญาตเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุญาตได้ 2. ต้องมีการตรวจสถานที่เล่นการพนันทุกชนิดที่มีผู้ขออนุญาต เช่น สถานที่เล่นไพ่จะต้องมิดชิดไม่แลเห็นได้ สถานที่เล่นพนันชนไก่จะต้องมีบริเวณกว้างขวางมั่นคง ไม่ขัดต่อสุขลักษณะอนามัย เป็นต้น

การตั้งจำหน่ายรถยนต์มือสองข้างถนน

ตามที่มีผู้สอบถามเกี่ยวกับการตั้งจำหน่ายรถยนต์มือสองข้างถนนนั้น กลุ่มควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ส่วนงานนิติการ สำนักการสอบสวนและนิติการ ขอเรียนให้ทราบ ดังนี้ 1. กรณีคำถามว่า การที่มีผู้ประกอบการขายรถยนต์มือสอง ที่จอดขายข้างถนน โดยอาศัยจอดตามใต้ต้นไม้ หรือมีป้ายขายติดอยู่ ถือว่าต้องขออนุญาตค้าของเก่าหรือไม่ นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพค้าของเก่า ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 นั้น จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 2 อย่างนี้ ก่อนที่จะตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 6 และตรวจสอบสถานที่ตั้ง คือ (1) สินค้าที่ค้าขายนั้นเป็นของเก่าหรือไม่ (ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474) (2) ประกอบการเป็นอาชีพหรือไม่ (ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตดลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474) ดังนั้น กรณีคำถาม จะเห็นว่ารถยนต์ที่จอดขายบริเวณสองข้างทางเป็นรถยนต์มือสอง ซึ่งถือว่าเป็นของเก่าตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 แต่การวางจำหน่ายรถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นอาชีพหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก กล่าวคือ - หากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการประกอบการเป็นอาชีพ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต แต่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตจะพิจารณาอนุญาตได้หรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาจากสถานที่ตั้งและสถานที่เก็บทรัพย์สินประกอบด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ มีสถานที่เป็นหลักแหล่งแน่นอนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ (ตามนัยมาตรา 8 (ก) แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 ประกอบกับข้อ 8 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533) - หากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการประกอบการที่ไม่ถือว่าเป็นอาชีพ เช่น นำรถยนต์ส่วนตัวออกวางขายโดยติดป้ายราคาบอกไว้ เช่นนี้ ก็ไม่เข้าลักษณะที่ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 แต่อย่างใด 2. กรณีถามว่า หากมีการวางจำหน่ายรถยนต์มือสองแบบข้อ 1 แต่ผู้ประกอบการอ้างว่ารับมาจำหน่ายจากร้านที่มีใบอนุญาตค้าของเก่าอยู่แล้ว จะต้องยื่นขอใบอนุญาตอีกหรือไม่ นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 มาตรา 8 (ก) ที่กำหนดว่า “ผู้ค้าของเก่าต้องแสดงนามของตนและคำว่า ผู้ค้าของเก่า ไว้ ณ ที่ทำการค้าของตน พร้อมทั้งใบอนุญาตในที่อันเห็นได้แจ้ง” นั้น มีความหมาย 2 ประการ คือ 1. ต้องมีสถานที่ทำการค้าที่เป็นหลักแหล่งและแน่นอน และ 2. ใบอนุญาต 1 ใบ ใช้ได้กับ 1 สถานประกอบการ ดังนั้น หากตามคำถามข้างต้น มีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะต้องได้รับอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว ผู้ที่จะจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตด้วย จะอ้างว่ารับมาจากร้านที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วไม่ได้ เพราะใบอนุญาต 1 ใบ จะใช้ได้กับ 1 สถานประกอบการเท่านั้น

ร้านคอมพิวเตอร์พิมพ์งาน

ร้านคอมฯ ที่ให้บริการพิมพ์งาน หรือบริการทางอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ไม่จำต้องขออนุญาตให้ฉายหรือบริการ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะไม่ได้ฉายหรือให้บริการเกมออนไลน์ที่ถ่ายทอดจากฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) แต่เมื่อใดร้านเปิดการเล่นเกมออนไลน์จากคอมพิวเตอร์(ฮาร์ดดิสก์) ถือว่าเข้าข่ายฉายหรือบริการเทปและวัสดุโทรทัศน์ทันที หากไม่ขออนุญาตมีความผิดตามมาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมาขออนุญาตเสียค่าธรรมเนียมเพียง 250 บาทต่อ 6 เดือน

ใบอนุญาตโรงแรม

หลักฐานที่แสดง เช่น - ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร - เอกสารการชำระภาษี - การบันทึกปากคำพยานบุคคลใกล้บริเวณโรงแรม สำหรับการกำหนดประเภทโรงแรม ตาม ม.13 นั้น ได้มีการเสนอร่างกฎกระทรวงออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก 2. โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก และห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหาร 3. โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหาร และสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ 4. โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหาร สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และห้องประชุมสัมมนา ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม. แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551

การสรรหา ส.ว.

สำหรับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ส.ว. นี้ จะมีการเลือก 2 แบบ ด้วยกันคือ
1. แบบสรรหา ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัคร ให้องค์กรต่างๆ ภาคเอกชน และส่วนราชการ ส่งรายชื่อ ได้ตั้งแต่ 7-13 ม.ค. 2551 จำนวนทั้งหมดที่สรรหา คือ 74 คน ซึ่ง จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และประกาศภายในวันที่ 21 ก.พ. 2551
2. แบบเลือกตั้ง ซึ่งทาง กกต. จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง โดยจำนวนทั้งหมด จะมี 76 คน (จังหวัดละ 1 คน)

ป.ล. สำหรับวาระการทำงานนั้นต่างกันคือ แบบสรรหา จะมีวาระ 3 ปี / สำหรับแบบเลือกตั้ง จะมีวาระ 6 ปี และกรณีที่เป็นองค์กร เอกชน ส่งรายชื่อเข้ารับการสรรหา จะต้องตั้งเป็นนิติบุคคล (สมาคม, มูลนิธิ) ที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป (อายุการจดทะเบียนสมาคม หรือมูลนิธินะครับ)

หลักเกณฑ์การเปิดผับ

หลักเกณฑ์การเปิดผับ
พอดีผมเป็นคนชอบเที่ยวครับไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ...สถานที่สำคัญ...เทศกาลงานต่างๆ..แบบแบกเป้ไปส่องโลกอะไรประมาณนั้นก็ชอบและอีกที่ที่ไปบ่อยก็คือ ผับ นั่นเอง..บางครั้งก็ไปดูพี่เสก(www.losofc.com)เพราะเป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น จึงได้มีโอกาศเข้าร้านอาหารกึ่งผับบ่อยๆ..และบางครั้งก็เที่ยวกับเพื่อนแถวรัชดา(ซ.4)...ทีนี้ด้วยความที่ไปแบบนี้บ่อยเห็นเจ้าของนี่รวยกันทั้งนั้นจึงมีความคิดอยากจะเปิดบ้างเพื่อนๆหลายคนคงเคยคิดแบบผมมั่งและ...ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าการจะเปิดสถานบันเทิงหรือสถานบริการเนี่ยมีหลักเกณท์อย่างไรบ้าง...
จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. การจดทะเบียนธุรกิจและขออนุญาต
2. การเตรียมสถานที่
1. การจดทะเบียนธุรกิจและการขออนุญาต
มีขั้นตอนดังนี้
การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ ร้านอาหารที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ โดยยื่นขอจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
การขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร คือ ใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
การขออนุญาตจำหน่าย สุรา และบุหรี่ คือ ต้องขออนุญาตจำหน่ายที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
สถานที่ขออนุญาต กรมสรรพสามิต 1488 ถนนนครไชยศรี
เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ 0-241-5600-19
และ 0-2668-6560-89
โทรสาร 0-2241-1029
ค่าธรรมเนียม 1. สุรา ฉบับละ 110 1,650 บาท /ปี
2. ยาสูบ ฉบับละ 20 บาท/ปี (ผมว่าบางทีค่าน้ำร้อนน้ำชารวมเข้าไปก็ราคาเพิ่มขึ้นนะ)
การขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร คือ ต้องขออนุญาตจัดตั้งสถานที่ ที่สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร
สถานที่ขออนุญาตสำนักงานเขตที่ร้านอาหารตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียม 800 บาท/ปี
การขึ้นทะเบียนนายจ้าง คือ การทำธุรกิจที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับจากวันที่มีลูกจ้าง ณ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
สถานที่ขออนุญาตสำนักงานประกันสังคเมเขตพื้นที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่
ภาษีป้ายคือ ผู้เริ่มประกอบธุรกิจร้านอาหารที่ติดตั้งป้ายใหม่ หรือแสดงป้ายใหม่ จะต้องชำระภาษีป้าย ณ สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร นับแต่วันที่เริ่มติดตั้งป้าย
สถานที่ชำระภาษียื่นขอ ณ สำนักงานเขต ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียมภาษี คิดจากเนื้อที่ของป้ายหรือลักษณะของป้าย
2. การเตรียมสถานที่
มีขั้นตอนดังนี้
การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร สำหรับคนที่เช่าร้านก็มิมีปัญหาตรงนี้แต่ใครที่จะสร้างใหม่ก็ ต้อง ขออนุญาต ณ สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ก่อนดำเนินการก่อสร้าง
สถานที่ยื่นขอ ยื่นขอ ณ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขต ที่ร้านอาหารนั้นตั้งอยู่
ค่าธรรมเนียม 1. ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลง ฉบับละ 10- 20 บาท
2. ค่าธรรมการตรวจแบบแปลนก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร
ตารางเมตรละ 0.50 4.00 บาท ขึ้นอยู่กับความสูง
หรือจำนวนชั้นของอาคาร
การขอใช้ไฟฟ้า ...ก็ยื่นเรื่องที่การไฟฟ้านครหลวงให้เขามาติดตั้งให้
การขอใช้น้ำประปา...ก็ยื่นเรื่งอต่อการประปาในเขตที่ตั้งอยู่ให้เขามาติดตั้งให้
และการขออนุญาตในลักษณะพิเศษ กรณีร้านอาหารมีการแสดงดนตรี
หรือการแสดงอื่นๆ ในลักษณะของสถานบริการ
การขออนุญาตตั้งสถานบริการ
สถานบริการ คือ สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า ดังนี้
1. สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทที่มี และประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ได้แก่ ไนต์คลับ บาร์ ภัตตาคาร เป็นต้น {สถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ.2509}
2. สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย และบริการโดยมีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า (ได้แก่ ภัตตาคารที่มีหญิงบำเรอนั่งร่วมโต๊ะปรนนิบัติลูกค้า หรือโรงน้ำชาที่มีเตียงพักผ่อนหลับนอน และมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า เป็นต้น) {สถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509}
3. สถานที่อาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า (ได้แก่ สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการนวดแก่ลูกค้ารวมตลอดถึงร้านตัดผมหรือดัดผมซึ่งมีห้องนวดแก่ลูกค้าด้วย เป็นต้น) {สถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509}
4. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือ การแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง (ได้แก่ ร้านคอฟฟี่ช้อบ ร้านขายอาหารหรือเครื่องดื่มโดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง เป็นต้น) {สถานบริการตามมาตรา 3(1) แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509}
หลักเกณฑ์การตั้งสถานบริการ
อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตตั้งเป็นสถานบริการ ต้อง
1. ไม่อยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ในขนาดที่เห็นได้ว่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่ดังกล่าวแล้ว
2. ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
3. มีทางถ่ายเทอากาศสะดวก
4. ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายว่าจะไม่อนุญาตให้มีการตั้งสถานบริการตามมาตรา 3(1) (2) และ (3) เว้นแต่ สถานบริการที่ได้ขออนุญาตก่อนที่จะมีนโยบายไม่อนุญาตดังกล่าว หรือ เป็นสถานบริการที่ตั้งขึ้นในโรงแรมที่ได้มาตรฐานเพื่อการท่องเที่ยวหรือได้รับบัตรส่งเสริมจาก BOI ซึ่งจะอนุโลมให้ตั้งได้เฉพาะสถานบริการตามมาตรา 3(4) ในโรงแรมดังกล่าวได้ โรงแรมละ 1 แห่ง
ต่างจังหวัด ติดต่อยื่นเรื่องราวขออนุญาตตั้งสถานบริการได้ ที่อำเภอท้องที่ ที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่ (ที่ทำการปกครองอำเภอ) หรือขอทราบ รายละเอียดได้ที่
1. สำนักงานจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
2. กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
โทร. 2211133,2212893 E-mail moi0208@moi.go.th
กทม. ติดต่อที่ สถานีตำรวจท้องที่ หรือ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โทร. 2803188-9
อัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตเกี่ยวกับสถานบริการ
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เก็บเป็นรายปี ดังนี้
1. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3 (1)
1.1 สถานเต้นรำประเภทที่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ฉบับละ 1,000 บาท
1.2 สถานเต้นรำประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ฉบับละ 500 บาท
1.3 สถานรำวงหรือรองเง็งประเภทที่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ฉบับละ 50 บาท
1.4 สถานรำวงหรือรองเง็งประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ ฉบับละ 20 บาท
2. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3 (2) ฉบับละ 1,000 บาท
3. ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3 (3) ฉบับละ 1,000 บาท
4. ใบแทนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามข้อ 1.1 และ 1.2 ฉบับละ 100 บาท
5. ใบแทนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามข้อ 1.3 และ 1.4 ฉบับละครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ
6. การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการครั้งละครึ่งหนึ่ง ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ